พิธีขึ้นบ้านใหม่แบบง่าย ๆ

ปัจจุบันคนไทยเรานิยมทำพิธีขึ้นบ้านใหม่แบบง่าย ๆ ด้วยการนิมนต์พระสงฆ์มาสวดมนต์และฉันเพลที่บ้าน ซึ่งบางบ้านก็อาจจะดูฤกษ์งามยามดีประกอบหรือเลือกเอาตามวันที่สะดวกก็ได้ โดยวิธีการปฏิบัติขั้นแรกให้เจ้าภาพไปนิมนต์พระสงฆ์ก่อนจะถึงวันงานสักประมาณ 1-5 วัน โดยให้บอกรายละเอียด เช่น งานอะไร ที่ไหน เมื่อไหร่ ต้องการพระสงฆ์กี่รูป (ปกติแล้วจะนิมนต์พระสงฆ์ที่ 5, 7 หรือ 9 รูป ตามความเหมาะสม) จากนั้นก็กลับมาจัดเตรียมสถานที่ประกอบพิธีให้เข้าที่ โดยต้องมีโต๊ะหมู่บูชาพร้อมพุทธรูปและเครื่องบูชาที่หันหน้าออกทางเดียวกับพระสงฆ์ เครื่องรับรองพระสงฆ์ เช่น หมาก พลู น้ำร้อน น้ำเย็น กระโถน และอาสน์สงฆ์ พร้อมล้อมสายสิญจน์ให้รอบบ้าน

พอถึงวันงาน เมื่อพระสงฆ์มาถึงก็ให้เจ้าภาพจุดธูป 3 ดอก เทียน 2 เล่ม พร้อมกราบ 3 ครั้ง ที่หน้าพระพุทธรูป จากนั้นก็หันไปกราบพระสงฆ์ 3 ครั้ง แล้วเริ่มพิธี เมื่อพระสงฆ์ทำพิธีเสร็จ เจ้าภาพและครอบครัวก็เตรียมเลี้ยงภัตตาหารพระ พร้อมทั้งนำอาหารคาวหวานไปถวายพระพุทธรูปด้วย เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จก็ลาพระ เท่านี้ก็เป็นอันเสร็จพิธี โดยบางบ้านที่มีญาติ ๆ หรือเพื่อนฝูงมาด้วยก็อาจจะมีกินเลี้ยงฉลองกันต่อได้ 

พิธีเข้าบ้านใหม่แบบไทย

จริง ๆ แล้ว แค่ประกอบพิธีทางศาสนาด้านบนก็ถือว่าเพียงพอแล้วสำหรับการเข้าบ้านใหม่ ทว่าหากใครอยากทำตามความเชื่อโบราณด้วยก็สามารถทำได้ โดยการเตรียมของขึ้นบ้านใหม่ดังนี้ ถุงเงิน ถุงทอง เงินเหรียญ 108 บาท เงินแบงค์ 1,900 บาท ถังเปล่า 2 ใบ ข้าว ถั่ว งา กลีบดอกกุหลาบ กลีบดอกดาวเรือง กลีบดอกรัก ดอกบานไม่รู้โรย เครื่องครัว เครื่องประดับ ธูป เทียน และพระพุทธรูป 

จากนั้นให้นำเงินที่เตรียมใส่ลงไปในถุงเงิน แล้วพูดเสียงดัง ๆ ทำนองว่ามีเงินเยอะ เสร็จแล้วก็นำถุงเงินและเครื่องประดับไปใส่รวมไว้ในถุงทอง พร้อมนำข้าวและน้ำใส่ลงในถังที่เตรียมไว้ให้เต็ม จากนั้นนำถั่ว งา และดอกไม้ ไปโรยรวมกันบนถัง แล้วค่อย ๆ ทยอยนำของเหล่านี้พร้อมกับเครื่องครัวเข้าบ้าน โดยพยายามอย่าให้ข้าวสาร งา น้ำ และดอกไม้หกเรี่ยราดไปตามทางและพูดแต่สิ่งดี ๆ ด้วย พอขนทุกอย่างเข้าบ้านเรียบร้อย จากนั้นก็ให้เจ้าของบ้านอุ้มพระพุทธรูปเดินเข้าบ้านใหม่มา แล้วนำไปวางไว้บนหิ้ง พร้อมจุดธูปบูชา 9 ดอก สุดท้ายให้ทุกคนช่วยกันเทข้าวของที่เตรียมมาลงบนที่นอนแล้วนอนลงบนนั้น เสร็จแล้วก็ช่วยกันเก็บเข้ากระเป๋าเสื้อ กระเป๋ากางเกง พร้อมเก็บกวาดให้สะอาดเรียบร้อย

วิธีนำพระเข้าบ้านใหม่

 สำหรับขั้นตอนการนำพระเข้าบ้านใหม่ ให้ผู้ชายที่มีอายุมากสุดเป็นคนอุ้มเข้าบ้าน โดยให้ผู้อยู่อาศัยทุกคนเดินตาม จากนั้นก็นำไปวางไว้บนหิ้งพระที่จัดเตรียม เสร็จแล้วถวายดอกไม้ใส่แจกัน อาหารคาวหวาน น้ำสะอาด พร้อมจุดธูปเทียนเพื่อเป็นการบูชาพระรัตนตรัย

ข้อห้ามขึ้นบ้านใหม่

จริง ๆ แล้วพิธีขึ้นบ้านใหม่ไม่มีข้อห้ามอะไรมาก เพียงแต่ไม่ควรทำขึ้นบ้านใหม่ในวันเสาร์ เนื่องจากตามหลักโหราศาสตร์เชื่อว่าวันเสาร์เป็นวันแห่งโทษทุกข์ ซึ่งไม่เหมาะกับการการขึ้นบ้านใหม่ที่ต้องการความร่มเย็น ดังนั้นถ้าเป็นไปได้จึงควรหลีกเลี่ยงการประกอบพิธีเกี่ยวกับบ้านในวันเสาร์นั่นเอง

ต้องการหาฤกษ์ในการขึ้นบ้านใหม่ หรือต้องการเชิญอาจารย์ไปเป็นผู้ประกอบพิธีดำเนินการในงานทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เป็นพิธีการอย่างถูกต้องครบถ้วน เพื่อเป็นสิริมงคล ก่อเกิดพลังบุญให้ท่านและครอบครัว อาศัยอยู่อย่างสงบ และเกิดความสุขความเจริญ สามารถติดต่อปรึกษารายละเอียดกับ อ. ทัศน์ธีกร ได้ตามเบอร์นี้ครับ

086-919-6556

ประเพณีการขึ้นบ้านใหม่แบบล้านนา

ประเพณีขึ้นเฮือนใหม่หรือขึ้นบ้านใหม่ คือการเริ่มต้นเข้าอยู่ในเรือนหลังใหม่ ตามปกติเรือนแต่ละหลังกว่าที่จะสำเร็จลงได้นั้น ผู้เป็นเจ้าของจะต้องผ่านการทำงานหนักเพื่อรวบรวมวัสดุต่าง ๆ มารวมปลูกสร้างเป็นเรือน กว่าที่จะยกเสาลงหลุมได้ก็ต้องผ่านพิธีกรรมอีกมากมาย เมื่อการปลูกสร้างเรือนสำเร็จลงแล้ว ผู้เป็นเจ้าของย่อมจะมีความผูกพันและภาคภูมิใจที่ผลของการที่ได้ทุ่มเทไปนั้นปรากฏรูปร่างเป็นรูปธรรม ดังนั้น เมื่อเริ่มที่จะเข้าไปอยู่อาศัย ชาวล้านนาจะต้องทำพิธีกรรมอีกชั้นหนึ่ง คือพิธีขึ้นเรือนใหม่

เมื่อปลูกบ้านเสร็จเรียบร้อยแล้ว เจ้าของก็จะคิดถึงการขึ้นเรือนใหม่ เริ่มแรกก็จะต้องหาฤกษ์ยามหรือวันดี โดยต้องไปปรึกษากับอาจารย์หรือผู้รู้เสียก่อน ซึ่งจะต้องมีการสอบดูเพื่อหาเดือน วัน ยาม ที่ดีที่เหมาะแก่การขึ้นเรือนใหม่ ตามคตินิยมแล้ว ท่านให้ขึ้นเรือนใหม่เดือนคู่ เช่น เดือนยี่ เดือนสี่ เดือนหกเป็นต้น ที่นิยมกันมากคือในเดือนสิบสอง(เดือนสิบของไทยกลาง) แต่ถ้าจะขึ้นเรือนใหม่ในเดือนคี่แล้วก็จะเป็นได้เพียงในวันพระญาวันหรือวันเถลิงศกเท่านั้น และต้องตรวจสอบวันต่าง ๆ เมื่อได้ฤกษ์ที่เหมาะสมแล้วก็จะเริ่มเตรียมการต่าง ๆ ตามลำดับ อันดับแรก เจ้าของบ้านจะต้องเตรียมเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ในการเลี้ยงดูคนเป็นจำนวนมาก เริ่มจากการสะสมฟืน สะสมอาหารอย่างฟักเขียวเพื่อใช้ปรุงอาหาร สะสมเครื่องใช้เช่นน้ำต้นหรือคนโท จานชาม กระโถน เสื่อ หมอน ต่าง ๆ จากนั้นก็เริ่มบอกกล่าวแก่ญาติมิตรให้มาร่วมฉลองการขึ้นเรือนใหม่ซึ่งบางท่านอาจพิมพ์ใบบอกไปแจกจ่ายเชื้อเชิญแทนการบอกกล่าวโดยวาจาก็ได้ ในแง่ของความสนุกสนานนั้นเจ้าภาพอาจจ้างลิเกหรือ ช่างซอ มาแสดงในวันงาน หรือมีการแสดงดนตรี เปิดเพลงให้แขกได้สนุกสนานกันเต็มที่

ทั้งนี้ ต้องไม่ลืมว่าจะต้องนิมนต์พระมารับทานหรือมารับการทำบุญ และต้องเชิญอาจารย์ผู้ประกอบพิธีมาดำเนินการในงานให้ด้วย ในการนิมนต์พระสงฆ์มาในงานขึ้นเรือนใหม่นั้นโบราณนิยมนิมนต์เพียงรูปเดียว พระสงฆ์นั้นจะมานำเจ้าภาพขึ้นสู่เรือนใหม่มาประพรมน้ำพระพุทธมนต์และมาเทศน์ ๑ กัณฑ์ โดยเลือกเอาธรรมคือคัมภีร์เพียงผูกใดผูกหนึ่งจากเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่น โลกวุฑฒิ สารากริกวิชชานสูตร ชัยน้อย สังคหโลก ชัยสังคหะเคหาภิเสก อรินทุม อุณหัสสวิชัย มังคละสูตร มังคละตันติง ในวันดาหรือวันสุกดิบที่ต้องเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ เพื่อเลี้ยงพระเลี้ยงแขกนั้น มักจะมีคนมาช่วยงานเช่น มวนบุหรี่ จัดหมากจัดเมี่ยงให้เป็นคำ จัดดอกไม้อาสนะสงฆ์และเตรียมอาหาร เป็นต้น เจ้าภาพมักจะหาความบันเทิงมามอบให้แก่ผู้มาช่วยงาน ในระยะเก่าก่อนนั้นวิธีการหนึ่งที่นิยมกันมากคือการเล่าคร่าว(อ่าน”เล่าค่าว”) คือจ้างคนให้นำเอาเรื่องชาดกที่แต่งด้วยฉันทลักษณ์คร่าว เช่น หงส์หิน เจ้าสุวัตร-นางบัวฅำ อ้ายรอยขอด วัณณพราหมณ์ ฯลฯ มาขับให้ผู้มาช่วยงานได้รับฟัง การเตรียมของในการทำบุญนั้นอาจล่วงเลยเข้าถึงดึกดื่น และบางกิจกรรมอาจต่อเนื่องไปจนสว่างหรือเวลาพระมาถึงบริเวณพิธีแล้วก็มี ในช่วงทำงานนี้ นับเป็นโอกาสดีที่หนุ่มสาวจะมีโอกาสได้พบปะกันได้อีกด้วย

ในวันงานขึ้นเรือนใหม่นั้น โดยมากมักจะจัดพิธีในช่วงเช้า ซึ่งก่อนหน้านั้นอาจเป็นตอนเย็นของวันก่อนหรือในตอนเช้าของวันนั้น จะมีพิธีขึ้นท้าวทังสี่เสียก่อน ทางเจ้าภาพก็จะเตรียมพระพุทธรูป หีบของมีค่า “ปู่ดำย่าดำ” หรือหม้อและไหสำหรับนึ่งข้าว ข้าวเปลือก ๑ หาบ ข้าวสาร ๑หาบ เครื่องนอนจำพวกที่นอนหมอนมุ้ง ไปรออยู่ใกล้บันไดเพื่อนำขึ้นเรือนใหม่ตามฤกษ์ นอกจากนี้เจ้าภาพอาจจัดคนที่ชื่อเป็นมงคล เช่น ดี แก้ว ฅำ หมื่น ฯลฯ ร่วมขบวนด้วย ทั้งนี้บางคนอาจเอาเคล็ดตามวันที่ขึ้นเรือนใหม่ด้วย ดังนี้ วันอาทิตย์ กินข้าวแล้วขึ้น ให้นายแก้วหรือนายคำขึ้นเรือนก่อน วันจันทร์ เอาพานดอกไม้หรือของหอมขึ้นก่อน วันอังคาร เอาภาชนะใส่น้ำขึ้นก่อน วันพุธ เอาพันธุ์ข้าวขึ้นก่อน วันพฤหัสบดี เอาไม้กับหนังสือขึ้นก่อน วันศุกร์ เอาข้าวสารหรือบ้างก็เอาดอกไม้สีขาวขึ้นก่อน วันเสาร์ เอาก้อนหินและขวานขึ้นก่อน บ้างก็ทำท่าโกรธแล้วให้ลูกเมีย ขึ้นก่อน เมื่อได้เวลาแล้วผู้ถือพานพระพุทธรูปจะนำหน้าและนำไปวางบนแท่นที่เตรียมไว้ ส่วนเครื่องใช้ชนิดอื่นก็จะนำเข้าที่ตามลำดับ

จากนั้นปู่อาจารย์และพระสงฆ์จะเริ่มกำกับพิธีการให้ดำเนินไปตามครรลอง คือการรับศีลการเวนทาน การสวด การอวยพรแก่บ้านใหม่ ไปจนตลอดถึงการประพรมน้ำพระพุทธมนต์โดยลำดับ ดังที่มีวรรณกรรมเกี่ยวกับการขึ้นเรือนใหม่อยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะคำเวนทานขึ้นเรือนใหม่หรือขึ้นบ้านใหม่นี้เป็นคำที่อาจารย์ผู้ประกอบพิธีกรรม หรือมัคนายกเป็นผู้กล่าวเพื่อแสดงถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานขึ้นบ้านใหม่ เมื่อพระสงฆ์ฉันเสร็จ และถวายเครื่องไทยทานแล้ว พระสงฆ์กล่าวอนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี ต่อจากนั้นก็เป็นการเลี้ยงดูกันตามทางโลก ในเวลากลางคืนค็อาจมีการละเล่น เป็นการ “อุ่นงัน” ให้สมกับที่ว่ากันว่า “ทำบุญ-อุ่นงัน”