การตั้งบูชาศาลพระภูมิ และศาลเจ้าที่ เป็นศาลที่สร้างขึ้นเพื่อให้เป็นที่สถิตของเทพารักษ์ โดยพระภูมิ เปรียบเหมือน “ประธาน” ส่วนเจ้าที่คือ “ผู้จัดการ” ศาลพระภูมิมีลักษณะเป็นบ้านหรือวิหารหลังเล็กตั้งอยู่บนเสาเดี่ยว หรือปะรำทำจากปูนหรือไม้เป็นต้น ตั้งไว้ในจุดที่เชื่อว่าเป็นมงคล ซึ่งมักจะอยู่ริมรั้วหรือมุมหนึ่งนอกบ้าน การสักการะบูชาพระภูมินั้น การจัดเครื่องสังเวยสิ่งของและการบูชาที่ถูกต้องตามเจตนา เพื่อแสดงความเคารพสักการะต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการเสริมสร้างสิริมงคลให้แก่ตนเอง และครอบครัว ส่งผลให้เราอาศัยในที่อยู่อาศัยอย่างสงบ รอดพ้นโพยภัยทั้งหลายแหล่ เกิดลาภผล โชคลาภนานับประการ ความเจริญรุ่งเรืองยิ่งๆ ขึ้นไป
ข้อควรรู้ก่อนจะตั้งศาลพระภูมิ
ก่อนจะตั้งศาลพระภูมิ เจ้าของบ้านต้องเชิญหมอตั้งศาลไปดูสถานที่เสียก่อน ไม่ใช่ว่านึกจะตั้งตรงไหนก็ตั้งได้ตามอำเภอใจ หมอต้องไปดูสถานที่ว่าเหมาะสมหรือไม่ สะอาดหรือเปล่า มีอะไรกีดขวางหรือเปล่า ต้องไม่ให้อยู่ใกล้ส้วม หรือห้องน้ำจนเกินไป และอย่าหันหน้าศาลไปทางส้วมหรือห้องน้ำเด็ดขาด อย่าหันหน้าศาลตรงกับประตูบ้าน
อย่าให้เงาบ้านทับศาล ต้องให้ห่างออกมาจากตัวบ้านพอสมควรจะเป็นการดี ถ้าบ้านหลายชั้นจะยิ่งตั้งลำบากมาก ในบริเวณสถานที่จำกัดมาก เคหะตึกแถวหรือทาวน์เฮ้าส์ ยิ่งจะหาที่ตั้งกันลำบากมากขึ้น เพราะสถานที่แคบเกินไป หากเป็นศาลพระภูมิหรือศาลเจ้าที่ ต้องตั้งในพื้นดิน ห้ามขึ้นบนบ้านหรือบนตึกเป็นอันขาด ศาลพระภูมิจะมีเสาต้นเดียว ศาลเจ้าที่มีเสา 4 ต้น
หากพื้นดินไม่มีสถานที่ที่ต้องการ จะตั้งชั้นบนหรือดาดฟ้าก็ได้ แต่ไม่ใช่พระภูมิหรือเจ้าที่ จะต้องเป็นศาลพระพรหม หรือศาลเทพารักษ์ ศาลเทพ ซึ่งจะทำการเชิญลงมาจากบนสวรรค์ ดาวดึงส์ พรหมโลกเทวโลก และสิงศักดิ์สิทธิ์ทั่วไป
ศาลเทพเทพารักษ์หรือศาลพระพรหมนี้ จะต้องจัดตั้งเป็นรูปศาลที่มีเสา 6 ต้น จึงจะถูกต้อง ถ้าหากตั้งบนพื้นดินได้เป็นเสาหกต้น ก็จะเชิญมาอยู่รวมกันได้หมดทุกพระองค์ เช่น พรพรหม พระภูมิเจ้าที่ เจ้าที่ เจ้าท่า เจ้าป่า เจ้าเขา พระอินทร์ เทพารักษ์ รุกขเทวดา นางฟ้า นางไม้ จะอยู่รวมกันได้ครบ
สนใจใช้บริการอัญเชิญบวงสรวงตั้งศาลพระพรหม ศาลพระภูมิ ศาลเจ้าที่ สามารถติดต่อปรึกษารายละเอียดกับ อ. ทัศน์ธีกร ได้ตามเบอร์นี้ครับ
086-919-6556คาถาขอขมาพระภูมิเจ้าที่
อิติสุขะโต อะระหังพุทโธ นะโม พุทธายะ ปฐวีคงคา พระภูมิเทวา ขะมามิหัง
– หลวงพ่อโอภาสี วัดกลางสวน บางมด
คาถาบูชาพระภูมิ
ยัสสามุสสะระเณนาปิ อันตะลิกเขปิปาณิโน ปะติฎฐะมะธิคัจฉันติ ภูมิยังวิยะ สัพพะทา สัพพูปัททะวะชาลัมหา ยักขะโจราทิสัมภะวา คะณะนาณะจะ มุตตานัง ปะริตตันตัม ภะณามะเหฯ
คาถาบูชาพระภูมิทุกวัน
ยัสสานุภาวะโต ยักขา เนวะ ทัสเสนติ ภิงสะนัง ยัมหิ เจวานุยุญชันโต รัตตินทิวะ มะตันทิโต สุขัง สุปะติ สุตโต จะ ปาปัง กิญจิ นะ ปัสสะติ เอวะมาทิ คุณูปเปตัง ปะริตตันตัม ภะณามะเหฯ
ถ้าตั้งศาลพระภูมิไว้ในเขตบ้าน ใช้คาถาบทนี้บูชาทุกๆ วัน หากมีเวลาน้อยสวดวันละ 1 จบ หรือครั้งละ 1 จบก็ได้ โดยทำให้สม่ำเสมออย่าได้ขาด จะเกิดสิริมงคลและบันดาลโชคลาภ และลาภผลนานาประการ หากบูชาให้ครบตามกำลังวันได้ก็จะเป็นการดียิ่งขึ้นไปอีก คือ
วันอาทิตย์ สวด 6 จบ
วันจันทร์ สวด 15 จบ
วันอังคาร สวด 8 จบ
วันพุธ สวด 17 จบ
วันพฤหัสบดี สวด 19 จบ
วันศุกร์ สวด 21 จบ
วันเสาร์ สวด 10 จบ
คำถวายเครื่องสังเวยพระภูมิ
นะโม เม ชะยะมังคะลัง ภูมิเทวานัง สักการะวันทะนัง สูปะพะยัญชะนะสัมปันนัง โภชะนานัง สาลีนัง สะปะริวารัง อุทะกัง วะรัง อาคัจฉันตุ ปะริภุญชันตุ สัพพะทา หิตายะ สุขายะ สันติเทวา มะหิทธิกา เตปิ ตุมเห อะนุรักขันตุ อาโรคะเยนะ สุเขนะ จะ .
การสักการบูชาพระภูมิ ไม่ควรใช้เครื่องสักการบูชาเดิมๆซ้ำกันตลอดไป ควรจัดหมุนเวียนเปลี่ยนไปในแต่ละเดือนตามกำหนด ถูกต้องตามประสงค์จะเสริมสิริมงคลเกิดลาภผลพ้นภัยพิบัติ มีแต่โชคลาภนานาประการ
เดือนอ้าย เดือนยี่
เจ้ากรุงพาลี กลายเพศเป็นนาคราช ของคาวทั้งหลายให้นำมาใช้สักการบูชา จะมีเกียรติยศและชื่อเสียงเลื่องลือไกล
เดือน 3 เดือน 4
เจ้ากรุงพาลี กลายเพศเป็นครุฑ ของสดของคาว กุ้งพล่า ปลายำ เป็นสิ่งสังเวยสักการบูชา บันดาลโชคลาภ โทษภัยจะหนีไกลห่าง มีแต่ความสุขสำราญ
เดือน 5 เดือน 6
เจ้ากรุงพาลี กลายเพศเป็นยักษ์ มีความดุร้าย ควรมีภักษาหารของสดของคาว กุ้งพล่า ปลายำ เนื้อหมู เนื้อวัวหรืออื่นๆที่เป็นของสดของคาว ก็จะเป็นที่พอใจของท่านใช้ผ้าแดงปูศาล
เดือน 7 เดือน 8
เจ้ากรุงพาลี กลายเพศเป็นพราหมณ์ร่างงาม งดเนื้อสัตว์และของคาวสารพัด ใช้ผ้าขาวปูศาล เครื่องสังเวยมังสวิรัติ
เดือน 9 เดือน 10
เจ้ากรุงพาลี กลายเพศเป็นราชสีห์ ชอบของสดของคาว เครื่องสังเวยคล้ายเดือน 5 เดือน 6 ใช้ผ้าเหลืองปูศาล จะเกิดลาภผลเหลือประมาณตามความต้องการทุกอย่าง
เดือน 11 เดือน 12
เจ้ากรุงพาลี กลายเพศเป็นช้าง ต้องมีหญ้าแพรก หญ้าปล้องอย่างละ 7 ใช้ผ้าดำปูศาล จะเกิดลาภผลสวัสดี ห้ามของคาว
คาถาลาเครื่องสังเวยพระภูมิ
อายันตุ โภนโต อิธะ ทานะสีละ เนกขัมมะปัญญา สะหะ
วิริยะ ขันติ สัจจะ อธิษฐานะ เมตตุเปกขายุทธายะโว ทิสสา วินะติ อะเสสะโต.
คาถาขอพรพระภูมิ
สิโรเม ขอเดชะพระภูมิเทวารักษาที่รับพระพรจากเจ้ากรุงพาลีมา ให้วัฒนาถาวรสิ่งสุข แด่(ระบุชื่อผู้ขอ) ให้มั่งมีเงินทองและทรัพย์พัสดุข้าวของเนื่องนอง ทั้งพร้อมพงศ์เผ่าบริวาร บุตรหลานเหลนลื้อบันลือ สาธุชนซร้องสรรเสริญ โสตถิ ชัยยะ ภะวันตุเม
ศาลพระภูมิและศาลเจ้าที่ ที่ถอนแล้ว หรือที่ชำรุดแตกหัก เก่านาน รวมทั้งตุ๊กตาตัวแทนพระชัยมงคล ตา-ยาย คนรับใช้ นางรำ ช้างม้า มักจะนำไปไว้ที่วัด หรือทิ้งไว้ตามข้างทางแยก
ประวัติของพระภูมิ
ความเป็นมาของพระภูมิชัยมงคลตามคติทางศาสนาพราหมณ์ มีดังนี้ เรื่องราวการกำเนิดพระชัยมงคลมีความเป็นมาในอวตารปางที่ 5 แห่งองค์พระนารายณ์หรือพระวิษณุเทพ ในยุคนั้นทั้งมนุษย์และทวยเทพ มีการไปมาหาสู่กันอย่างง่ายดายอยู่เสมอ แต่สมัยนี้ ติดต่อกันยากลำบาก เพราะมนุษย์สมัยนี้มีความดีน้อยลงมาก บรรดาทวยเทพจึงไม่ลงมาคบหาด้วย ในสมัยนั้นมีผู้เป็นใหญ่ที่สุดในมวลมนุษย์ ทรงพระนามว่า “ท้าวทศราช” ปกครองนคร “กรุงพาลี” ซึ่งเป็นอาณาจักรที่ยิ่งใหญ่เหนือมนุษย์ทั้งหลาย ทรงมีพระมเหสีพระนามว่า “พระนางสันทรทุกเทวี” มีโอรสด้วยกัน 9 พระองค์ คือ
1.พระชัยมงคล ทรงฉลองพระองค์อย่างกษัตริย์หรือเทพารักษ์โดยทรงสวมชฎาทรงสูง สวมพระภูษาห้อยชายมีสายธุรำ และสายสังวาลย์ ทรงสวมกำไล,ปั้นเหน่งและพาหุรัด สวมฉลองพระบาทเชิงงอน พระหัตถ์ซ้ายทรงถือถุงเงิน พระหัตถ์ขวาทรงถือพระขรรค์ ปกครองดูแลเคหสถานบ้านเรือนและร้านโรงต่างๆ
2.พระนครราช ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคลแต่พระหัตถ์ซ้ายถือช่อดอกไม้ ดูแลปกครองป้อม,ค่าย,ประตูเมือง,หอรบและบันไดต่างๆ
3.พระเทเพล ( พระเทเพน ) พระเทเพน ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ซ้ายถือหนังสือหรือคัมภีร์ ปกครองดูแลฟาร์ม,ไร่และคอกสัตว์ต่างๆ
4.พระชัยศพน์ ( พระชัยสพ ) ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ขวาถือหอก พระหัตถ์ซ้ายวางแนบอยู่บริเวณพระสะเอว ปกครองดูแลเสบียง,คลังและยุ้งฉางต่างๆ
5.พระคนธรรพน์ ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ซ้ายถือผะอบ ปกครองดูแลพิธีวิวาห์, เรือนหอและสถานบันเทิงต่างๆ
6.พระธรรมโหรา ( พระเยาวแผ้ว ) ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ซ้ายแพนหางนกยูง ปกครองดูแลโรงนา,ป่าเขา,ลำเนาไพรและเรือกสวนต่างๆ
7.พระเทวเถร ( พระวัยทัต ) ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคลแต่พระหัตถ์ขวาถือธารพระกร ( ไม้เท้า ) ปกครองดูแลปูชนียสถาน,เจดีย์และวัดวาอารามต่างๆ
8.พระธรรมมิกราช ( พระธรรมมิคราช ) ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ซ้ายถือพวงมาลา ปกครองดูแลกิจต่างๆ อันเกี่ยวกับพืชพันธุธัญญาหารทั้งปวงและพระราชอุทยาน
9. พระทาษธารา ทรงฉลองพระองค์เช่นเดียวกับพระภูมิชัยมงคล แต่พระหัตถ์ไม่ได้ถืออะไร ปกครองดูแลบึง, ห้วยหนอง,คลองและลำธารต่างๆตลอดจนน้ำที่ตกลงมาจากฟ้า
พระโอรสทั้ง 9 พระองค์ มีความสามารถและอานุภาพมาก ในฐานะเทพ ทั้ง 9 พระองค์ มีความสามารถเท่าเทียมกัน ท้าวทศราชทรงมอบหมายให้ทั้ง 9 พระองค์ ไปดูแลสถานที่ต่างๆ แทนพระองค์
ต่อมาท้าวทศราช เกิดความโลภมาก,เห็นแก่ตัว,เบียดเบียนมนุษย์ ปกครองบ้านเมืองอย่างไร้คุณธรรม กดขี่ข่มเหงราษฎรโดยไม่กลัวบาป จนได้รับความเดือดร้อนไปทั่วทุกแห่ง นอกจากนี้ ยังรับสั่งให้พระโอรสทั้ง 9 พระองค์กระทำความผิดโดยเรียกร้องเครื่องเซ่นสังเวยต่างๆ จนราษฎรได้รับความลำบากทุกข์ยาก ไม่สามารถขัดขืนหรือหาทางออกได้
เมื่อพระศิวะมหาเทพทรงทราบเรื่องราวความเป็นมาของความเดือดร้อนของมนุษย์ จึงมีโองการให้พระนารายณ์( พระวิษณุ ) อวตารลงมาปราบพระเจ้ากรุงพาลี เมื่อพระนารายณ์อวตารลงมาจนเติบใหญ่เป็นพราหมณ์น้อย มีวิชาความรู้ ได้เดินทางมาเฝ้าท้าวทศราช เมื่อท้าวทศราชเห็นพราหมณ์น้อยน่าเลื่อมใส และถามพราหมณ์น้อยว่า ต้องการอะไรเป็นการบูชา พราหมณ์น้อยจึงออกอุบายขอที่เพียง 3 ก้าวเท่านั้น ท้าวทศราชตรัสรับปาก พราหมณ์น้อยจึงขอให้ท้าวทศราชหลั่งน้ำอุทกธารา ในขณะที่กำลังหลั่งนั้น พระศุกร์ ผู้เป็นอาจารย์ของท้าวทศราชรู้ทันอุบายของพราหมณ์น้อย ได้แปลงกายเข้าไปอุดรูน้ำไว้ พราหมณ์น้อยจึงเอาปลายหญ้าคาแยงเข้าถูกนัยน์ตาของพระศุกร์เข้า พระศุกร์เจ็บปวดจนทนไม่ไหวเหาะหนีไปน้ำจึงไหลออกมา
หลังจากนั้นพราหมณ์น้อยก็แสดงอิทธิฤทธิ์กลับคืนสู่ร่างเดิมซึ่งใหญ่โตกว่าปราสาทราชมณเฑียร เมื่อย่างก้าวเพียง 3 ก้าว ก็กินอาณาบริเวณกรุงพาลีทั้งหมด ท้าวทศราชเห็นก็ทรงก้มกราบลงขอขมาพระนารายณ์ทันที ( พราหมณ์น้อย ) พระนารายณ์ ทรงขับไล่ท้าวทศราช,พระนางสันทรทุกเทวีและพระโอรสทั้ง 9 พระองค์ ให้ไปอยู่นอกเขตป่าหิมพานต์ นับจากนั้นราษฎรก็อยู่อย่างร่มเย็นเป็นสุข ฝ่ายท้าวทศราช,พระมเหสีและพระโอรส ต้องพบกับความยากลำบากแสนสาหัส ด้วยสภาพเช่นนี้ทำให้ท้าวทศราชและพระโอรสสำนึกถึงความผิดของตนที่ได้กระทำไว้แต่หนหลัง ท้าวทศราชจึงได้พาพระโอรสทั้ง 9 ไปเข้าเฝ้าพระนารายณ์เพื่อขออภัยโทษและแสดงความสำนึกผิดอย่างแท้จริงและปวารณาตนว่าจะตั้งอยู่ในศีลธรรม ประกอบกรรมดี มีจิตใจเผื่อแผ่ พระนารายณ์เห็นจิตอันแรงกล้าจึงอภัยโทษให้และอนุญาตให้ท้าวทศราชและพระโอรสทั้ง 9 กลับมาอยู่ที่กรุงพาลีได้ดังเดิม แต่ไม่ใช่ฐานะกษัตริย์ แต่ให้ประทับอยู่บนศาลที่มีเสาเพียง 1 เสาปักลงบนผืนดิน และจะต้องปฏิบัติตามคำสัญญาอย่างเคร่งครัด มิฉะนั้นจะไม่ให้อยู่ในโลกอีกต่อไป