มาทำความรู้จักกับพิธีแต่งงานแบบล้านนาแท้ ๆ ซึ่งมีความงดงามแห่งขนบประเพณี และวิถีชีวิตพื้นเมืองภาคเหนือที่สืบทอดกันมาแต่ครั้งโบราณ โดยก่อนถึงวันงานประมาณ 1 – 2 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย ทั้งฝ่ายชายและฝ่ายหญิงจะเริ่มทยอยบอกกล่าวเชิญชวนญาติผู้ใหญ่ เพื่อน และคนรู้จักที่ใกล้ชิดสนิทกันให้มาร่วมงาน ส่วนเรื่องอาหารจัดเลี้ยงก็จะได้บรรดาคนบ้านใกล้เรือนเคียงนี่แหละมาช่วยกัน
ในเช้าวันแต่งงานจะต้องทำพิธีขึ้นท้าวทั้งสี่ (จตุโลกบาล) ซึ่งเป็นพิธีสำคัญของชาวล้านนาในการคุ้มครองบ้านเรือน โดยปู่อาจารย์ที่เคารพเป็นผู้ประกอบพิธี ส่วนเครื่องพลีกรรมในพิธี ปู่อาจารย์ผู้ประกอบพิธีเป็นผู้จัดเตรียม แล้วให้ชาวบ้านช่วยกันทำครับ
ขอเจ้าบ่าว (ขอเขย)
ในเช้าวันแต่งงาน เมื่อทุกอย่างเป็นไปตามกำหนด ฝ่ายเจ้าสาวจะนำคณะไปขอเจ้าบ่าวที่บ้านเจ้าบ่าว เรียกว่า ไปขอเขย ซึ่งการขอเจ้าบ่าวจะต้องมีพานดอกไม้ธูปเทียน ไปพูดเชิญพ่อแม่เจ้าบ่าวด้วยถ้อยคำอันเป็นมงคล เพื่อเชิญผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าบ่าวแห่ขบวนขันหมากไปยังบ้านเจ้าสาวให้ทันตามฤกษ์ที่กำหนด โดยกล่าวคำมงคลว่า มาวันนี้ก็เพื่อมาขอเอาแก้วงามแสงดี มาไว้เป็นมงคลบ้านโน้น (บ้านเจ้าสาว) ทางพ่อแม่ฝ่ายเจ้าบ่าว มีขันข้าวตอกดอกไม้และขันหมากเป็นเครื่องต้อนรับและกล่าวฝากตัวลูกชายไปเป็นลูกเขยว่า ลูกชายข้าก็รักดั่งแก้วดั่งแสง จะร้ายดีอย่างใด ก็ขอได้ช่วยสั่งช่วยสอนเขาเทอะ พิธีขอเจ้าบ่าวนี้ ถ้าเจ้าบ่าวอยู่ในหมู่บ้านเดียวกันกับเจ้าสาว จะใช้วิธีเดินเท้าไปเป็นขบวน แต่ถ้าอยู่คนละหมู่บ้านอาจจะโดยรถยนต์ หรือนำคณะไปพักอยู่บ้านญาติผู้ใหญ่หรือที่พักที่ใกล้เคียงกันหมู่บ้านของเจ้าสาว
แห่ขบวนขันหมาก
เมื่อถึงวันเข้าพิธีแต่งงาน ทางฝ่ายเจ้าบ่าวจะตั้งขบวนแห่ขันหมาก โดยมีเครื่องประกอบขบวน นำหน้าโดยขันดอกไม้ ตามด้วยบายศรี ซึ่งอาจทำมาจากบ้านเจ้าบ่าว หรือถ้าทางบ้านเจ้าสาวทำบายศรีไว้แล้ว ฝ่ายเจ้าบ่าวอาจจะไม่จำเป็นต้องนำมาแห่ในขบวนก็ได้ครับ
ส่วนตัวเจ้าบ่าวจะต้องสะพายดาบ อันเป็นเครื่องหมายแห่งชายชาตรี และตามมาด้วยขันหมั้น ขันหมาก หีบผ้า หน่อกล้วย หน่ออ้อย เป็นต้น (ซึ่งทางฝ่ายเจ้าบ่าวอาจปรับเปลี่ยนการจัดลำดับขบวนขันหมากได้ตามความเหมาะสม)
ส่วนวงดนตรีในขบวนจะประกอบด้วย
- กลองซิ้งม้อง (รูปทรงคล้ายกลองยาวแต่สั้นกว่า)
- ปี่แน
แขกที่มาร่วมงานจะเดินในขบวนแห่ขันหมาก เพื่อไปหาเจ้าสาวยังบริเวณพิธี เมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อมแล้ว ทางฝ่ายเจ้าสาวจะส่งตัวแทนไปเชิญขบวนแห่ฝ่ายเจ้าบ่าวเข้าบ้าน
การกั้นประตูเงินประตูทอง
หน้าประตูบ้านของฝ่ายเจ้าสาวจะมีผู้ปกครองฝ่ายเจ้าสาวยืนรอรับขบวนขันหมาก เมื่อขบวนขันหมากมาถึงจะมีการต่อรองระหว่างสองครอบครัวซึ่งเต็มไปด้วยสีสันและความสนุกสนาน ถือเป็นประเพณีที่เจ้าบ่าวต้องตกลงที่จะจ่าย “ค่าผ่านประตู” ก่อนที่จะเจอหน้าเจ้าสาวที่เก็บตัวอยู่ในห้อง เจ้าบ่าวจะต้องเดินผ่านประตูเงินประตูทอง ที่มีบรรดาญาติ ๆ และเพื่อน ๆ ของฝ่ายเจ้าสาวยืนขวางประตูทางเข้าไว้ ฝ่ายเจ้าบ่าวจะต้องเตรียมซองใส่เงินเป็นค่าผ่านประตูก่อนจะได้พบเจอเจ้าสาว
บายศรีสู่ขวัญ
การเรียกขวัญแต่งงาน เป็นการสร้างกำลังใจและเตือนสติให้ผู้ได้รับการเรียกขวัญด้วยว่า ในวาระนั้น ๆ ผู้ได้รับการเรียกขวัญกำลังจะย่างเข้าสู่ชีวิตอีกแบบหนึ่งคือ ทั้งคู่กำลังจะเป็นพ่อเรือนแม่เรือน จะต้องปฏิบัติตนให้เหมาะสมกับชีวิต
ชาวล้านนามีความเชื่อว่า คนเรามีขวัญอยู่ ๓๒ ขวัญ อยู่ประจำอวัยวะต่าง ๆ ประจำตัว เพื่อปกปักรักษาผู้เป็นเจ้าของขวัญให้มีความสุข ไม่เจ็บป่วย แต่ถ้าขวัญออกจากร่างกาย จะมีผลทำให้ผู้นั้นเจ็บป่วย มีความทุกข์หรือเกิดเรื่องร้ายต่าง ๆ ดังนั้น เพื่อให้ขวัญอยู่ที่เดิม จึงจำเป็นต้องจัดพิธีเรียกขวัญหรือผูกข้อไม้ข้อมือกันนั่นเอง
เมื่อเจ้าบ่าวผ่านประตูเงินประตูทองเข้ามาในพิธีแล้ว ลำดับต่อไป เจ้าบ่าวเจ้าสาวไหว้พ่อแม่ทั้งสองฝ่าย พ่อแม่พาเจ้าบ่าวเจ้าสาวพาไปส่งบริเวณทำพิธี โดยให้หญิงนั่งซ้าย ชายนั่งขวา แขกผู้ใหญ่ หรือพ่อแม่แต่ละฝ่าย หรือปู่อาจารย์ เป็นผู้สวมฝ้ายมงคล ที่ศรีษะของทั้งสองคนโยงคู่กัน
ปู่อาจารย์หรือผู้ประกอบพิธี เป็นผู้เรียกขวัญคู่บ่าวสาวให้รักกันยืนนานชั่วชีวิต เป็นภาษาล้านนาที่มีทำนองไพเราะอ่อนหวาน
จากนั้น ปู่อาจารย์จะทำพิธีปัดเคราะห์ เพื่อให้ทั้งสองอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าสาวจะเป็นผู้มัดมือและอวยพรคู่บ่าวสาวก่อน ตามด้วยญาติผู้ใหญ่และพ่อแม่เจ้าบ่าว ต่อจากนั้น เป็นญาติสนิทมิตรสหายของทั้งสองฝ่าย การผูกข้อมือจะใช้ฝ้ายดิบ ภาษาล้านนาเรียกว่า ฝ้ายไหมมือ ในสมัยโบราณจะทำโดย ฝ้ายต่อง คือด้ายที่ปั่นไว้และนำไปขึงกับ เปี๋ย มิให้ม้วนพันกัน จากนั้นนำด้ายมา ล้วง ทำเป็นฝ้ายมัดมือ การผูกข้อมือคู่บ่าวสาว จะต้องกล่าวคำอวยพรให้แก่บ่าวสาว เช่น หื้อฮักกั๋น แพงกัน หื้อเจริญก้าวหน้า ริมาค้าขึ้น พลันมีลูกเต็มบ้าน มีหลานเต็มเมือง
จากนั้นแขกผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายก็จะใส่ซองเงินลงในขันสลุงให้แก่คู่บ่าวสาว ในปัจจุบันคู่บ่าวสาวก็จะมอบของไหว้ให้แก่แขกผู้ใหญ่เป็นการตอบแทน ของรับไหว้ที่คู่บ่าวสาวนิยมมอบให้ เช่น ขันเงินขนาดเล็ก ของชำร่วย หลังจากมอบของไหว้และของรับไหว้เรียบร้อยแล้ว ปู่อาจารย์จะถอดฝ้ายมงคลออก ก็เป็นอันเสร็จพิธีเรียกขวัญ ผูกข้อมือแล้วครับ
ชาวล้านนานิยมเรียกบายศรีว่า ใบสี เนื่องจากใช้ใบตองมาเย็บรวมกันทำเป็นบายศรี บ้างก็เรียก ขันบายศรี บางแห่งเรียกว่า ขันปอกมือ หรือ ขันผูกมือ เนื่องจากเป็นเครื่องประกอบพิธีเรียกขวัญและมัดมือ ขันบายศรีอาจใช้ขันเงิน หรือพานเงิน พานทองเหลือง ขันซี่ (พานที่กลึงด้วยไม้เนื้อแข็ง ทารักทาชาด) ใช้ใบตองมาพับปลายเรียวแหลมหลาย ๆ อัน แล้วนำมาซ้อนทับกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ จะกี่ชั้นก็ได้ตามความเหมาะสม แต่ต้องเป็นจำนวนคู่
บายศรีที่นิยมทำกันทั่วไปจะมีนมแมว ๗ ชั้น หรือ ๙ ชั้น แถบนมแมวทั้งหมดทำเป็น ๔ มุม เรียกว่า สี่แจ่งนมแมว บางแห่ง ๖ มุม หรือ ๘ มุมบ้าง นำมาวางเรียงซ้อนกันบนพานและมีขันสลุงรองรับอยู่บนพาน ประดับด้วยดอกไม้ต่าง ๆ อย่างงดงาม ส่วนปลายหรือยอดของบายศรีจะใช้ด้ายดิบผูกโยงต่อเนื่องกันในแต่ละยอด และเหลือไว้ช่องหนึ่ง เพื่อเป็นทางให้ขวัญเข้ามากินอาหารในขันบายศรี
ส่วนอาหารสำหรับขวัญที่ต้องใส่ในขันบายศรี ได้แก่
- ข้าวเหนียวสุก
- ไข่ต้ม
- ชิ้นปิ้ง
- ปลาปิ้ง
- ข้าวแตน
- กล้วยน้ำว้าสุก
- หมากพลู
- เหมี้ยง
จำนวนอย่างละ ๑ คู่ บายศรีแต่งงานนิยมทำบายศรีนมแมวชั้นเดียว และอาจทำซ้อนชั้นด้วยพานรองรับขนาดต่าง ๆ แต่ไม่เกิน ๓ ชั้น
ขันตั้งบายศรี
เป็นเครื่องบูชาครู ทางล้านนาเรียกว่าขันตั้ง คือของใช้สำหรับบูชาครูหรือยกครู ในเวลาจะประกอบพิธีกรรมต่างๆ สำหรับขันตั้งเรียกขวัญ มีของใช้สำหรับบูชาครู ประกอบด้วย
- ข้าวเปลือก ข้าวสาร อย่างละ ๑ กระทง
- ผ้าขาว ผ้าแดง อย่างละ ๑ ผืน (ประมาณ ๑ วา)
- สวยหมากสวยพลู ๘ สวย
- สวยดอกไม้ ธูปเทียน อย่างละ ๘ สวย
- หมากแห้ง ๑ หัว
- เงินบูชาครู ๕๖ บาท
- น้ำขมิ้นส้มป่อย ๑ ขันเล็ก
ของทั้งหมดนี้ใส่รวมกันลงในพานหรือถาด ก่อนจะทำพิธีเรียกขวัญ ปู่อาจารย์จะเริ่มต้นโดยการขึ้นขันตั้งก่อน จึงจะทำพิธีเรียกขวัญ ปัจจุบันไม่เป็นที่นิยมเท่าใดนัก
ส่งตัวเข้าหอ
ก่อนส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวเข้าห้องหอ จะต้องมีการมัดมือคู่เจ้าบ่าวสาวให้ติดกันก่อน โดยมีพ่อแม่หรือบุคคลที่เคารพนับถือ บุคคลที่มีชื่อเป็นมงคลเป็นผู้จูงคู่บ่าวสาวเข้าห้อง โดยต้องถือบายศรีนำหน้า ตามด้วยน้ำบ่อแก้ว คือสลุงที่ใส่เงินทองที่แขกผู้มาร่วมงานได้มอบให้ตอนผูกข้อมือคู่บ่าวสาว
การจูงเข้าห้องโดยญาติฝ่ายเจ้าสาวจูงมือเจ้าสาว ญาติฝ่ายเจ้าบ่าวจูงมือเจ้าบ่าว ซึ่งบนเตียงนอนมีกลีบดอกไม้โปรยไว้ พ่อแม่หรือผู้ใหญ่ที่แต่งงานครั้งเดียวจะนอนให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วให้คู่บ่าวสาวนอนด้วยกันเป็นพิธี และมีการให้โอวาทในการครองเรือน เรียกว่า สอนบ่าว สอนสาว เช่น ให้ผัวเป็นแก้ว เมียเป็นแสง บ่ดีหื้อเป็นผัวเผต เมียยักษ์ หื้อมีลูกเต็มบ้าน หลานเต็มเมือง หื้อฮักกั๋นแพงกั๋นอยู่ตราบเสี้ยงชีวิต ถ้าผัวเป็นไฟ หื้อเมียเป็นน้ำ หื้อพ่อชายเป็นหิง แม่ญิงเป็นข้อง (สรุปสั้น ๆ คือ ขอให้ผู้ชายเป็นคนหาเงินทอง ส่วนผู้หญิงเป็นผู้เก็บรักษาทรัพย์สมบัติ) เท่านี้ก็เป็นอันจบพิธีแต่งงานแบบล้านนาอย่างสมบูรณ์แล้วครับ
ต้องการหาฤกษ์แต่งงาน หรือต้องการเชิญปู่อาจารย์ไปเป็นผู้ประกอบพิธี แต่งงานแบบล้านนา ในพิธีการอย่างถูกต้องครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็น บายศรีสู่ขวัญ ปัดเคราะห์ การเรียกขวัญแต่งงาน และการส่งตัวเข้าหอ สามารถติดต่อปรึกษารายละเอียดกับ อ. ทัศน์ธีกร ได้ตามเบอร์นี้ครับ
086-919-6556