วัดโลกโมฬี วัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในจังหวัดเชียงใหม่ที่มีอายุมากกว่าห้าร้อยปี ไม่มีหลักฐานปรากฏอย่างแน่ชัดว่าสร้างขึ้นในสมัยใด แต่ได้ปรากฏชื่อวัดโลกโมฬีในตำนานของวัดพระธาตุดอยสุเทพ ตั้งอยู่บริเวณทิศเหนือของตัวเมืองเชียงใหม่ ใกล้แจ่งหัวริน

ประวัติของ วัดโลกโมฬี

วัดโลกโมฬี เป็นพระอารามหลวงนอกกำแพงเมืองด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ปัจจุบันเป็นวัดร้าง วัดนี้ปรากฏซื่อครั้งแรกในรัชสมัยพระเจ้ากือนา เมื่อคราวที่พระองค์โปรดฯ ให้ไปอาราธนาพระอุทุมพรบุปผา มหาสวามีจากเมืองพันให้มาเผยแพร่พระพุทธศาสนาที่เมืองเชียงใหม่ แต่พระอุทุมพร บุปผามหาสวามีส่งคณะสงฆ์ 10 รูปมาแทน พระเจ้ากือนาจึงโปรดฯ ให้คณะสงฆ์ดังกล่าวไปจำพรรษา ณ วัดโลกโมฬี

ต่อมาในรัชสมัยพระเมืองแก้ว ปี พ.ศ. 2070 โปรดฯให้สร้างวิหารและพระเจดีย์ ต่อมาในปี พ.ศ. 2088 พระเมืองเกษเกล้าถูกปลงพระชนม์ พระ มหาเทวีจิรประภาทรงนำพระอิฐิมาประดิษฐาน ณ เจดีย์วัดโลก และในปีเดียวกันนี้พระไชยราชาแห่งกรุงศรีอยุธยาได้ยกก่องทัพขึ้นมาตีเมืองเชียงใหม่ พระมหาเทวีจิระประภาได้ยินยอมเป็นไมตรีด้วย พระไชย ราชาทรงเสด็จเข้าเมืองเชียงใหม่และได้เสด็จมาบูชา พระอิฐของพระเมืองเกษเกล้าด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ. 2121 พระนางวิสุทธิราชเทวีผู้ครองนครเชียงใหม่ทิวงคต ได้ทำการถวายพระเพลิง ณ ทุ่งวัดโลก และ บรรจุอิฐไว้ในเจดีย์วัดโลกด้วย

ยุคอาณาจักรล้านนา

ในปี พ.ศ. 1910 พญากือนา ทรงให้ราชบุรุษไปนิมนต์พระมหาเถระเจ้ามาสืบศาสนาในล้านนา แต่พระมหาเถระทรงชราภาพมาก จึงให้พระอนันทะเถระและพระเถระที่เป็นศิษย์อีก 10 รูป มาสืบทอดพระพุทธศาสนาในดินแดนล้านนาซึ่งคณะสงฆ์เหล่านั้นได้จำพรรษาที่วัดโลกโมฬี อันเป็นสถานที่ใช้ในการต้อนรับพระราชอาคันตุกะจากต่างเมือง

ต่อมาในปี พ.ศ. 2070 พญาเมืองเกษเกล้า ได้ถวายบ้านหัวเวียงให้เป็นอารามวัดโมฬี และใน พ.ศ. 2071 ได้ทรงให้สร้างมหาเจดีย์และวิหารโลกโมฬี ต่อมาเมื่อพญาเกศเกล้าถูกลอบปลงพระชนม์ในปี พ.ศ. 2088 เหล่าข้าราชการ ขุนนาง ได้ทำพิธีที่วัดแสนนอก นำพระบรมอัฐิมาบรรจุไว้ที่วัดโลกโมฬีนอกกำแพงเมืองเชียงใหม่ด้านเหนือของพระอาราม ซึ่งเป็นพระอารามหลวงประจำพระองค์ จากนั้นเสนาอำมาตย์จึงได้ทูลเชิญพระนางจิรประภามหาเทวี พระอัครมเหสี ขึ้นครองราชสมบัติ ขณะนั้นล้านนากำลังอ่อนแอ สมเด็จพระไชยราชาธิราช กษัตริย์อยุธยา จึงยกทัพมาตีล้านนา แต่ด้วยพระนางจิรประภาได้ถวายเครื่องบรรณาการไปถวายขอเป็นมิตร พร้อมทูลเชิญสมเด็จพระไชยราชาธิราชเสด็จมาทำบุญที่กู่พญาเมืองเกศเกล้า วัดโลกโมฬี

ยุคล้านนาของพม่า

ช่วงเวลาที่เชียงใหม่ตกเป็นเมืองขึ้นของพม่าตั้งแต่ปี พ.ศ. 2122 เป็นต้นมา วัดวาอารามต่าง ๆ ถูกเผาทำลายไปมากมายแต่วัดโลกโมฬีไม่ได้ถูกเผา เนื่องจากพระเจ้าสาวัตถีนรถามังคะยอ กษัตริย์แคว้นล้านนาได้ทรงเมตตาธรรมพระมหาสมเด็จวัดโลกโมฬีไว้กับวัดวิสุทธาราม และเป็นวัดสำคัญในพระราชสำนักมาโดยตลอด

ยุครัตนโกสินทร์

ในปีพ.ศ. 2440 วัดโลกโมฬีตั้งอยู่แขวงบ้านทับม่าน แคว้นเจ็ดยอด เจ้าอธิการชื่อ ตุ๊พวก รองอธิการชื่อ ตุ๊คำ เป็นนิกายเชียงใหม่ มีโฉนดออกเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2482 กระทั่งสงครามโลกครั้งที่สอง วัดโลกโมฬีถูกทิ้งให้ร้าง จนถึงปี พ.ศ. 2502 กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนวัดโลกโมฬีเป็นโบราณสถานแห่งชาติ

9 พฤศจิกายน พ.ศ. 2544 กรมการศาสนาได้อนุมัติให้ยกฐานะวัดโลกโมฬีจากวัดร้างให้เป็นพระอารามที่ถูกต้องตามกฎหมาย และได้แต่งตั้งให้พระญาณสมโพธิเป็นผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาส และในปี พ.ศ. 2545 ได้มีการเททองรูปเหมือนพระนางจิรประภามหาเทวี ประดิษฐานภายในวัด

ซุ้มประตูวัดโลกโมฬี
ซุ้มประตูวัดโลกโมฬี

สถานที่และสิ่งสำคัญภายใน วัดโลกโมฬี

1. เจดีย์วัดโลกโมฬี

มีหลักฐานปรากฏอย่างชัดเจนว่า เจดีย์ของวัดโลกโมฬีในปัจจุบันเป็นเจดีย์ที่สร้างปลาย พุทธศตวรรษที่ 21 ตำนานระบุว่าสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลพระเมืองเกศเกล้า เมื่อ พ.ศ. 2071 เป็นเจดีย์ทรงปราสาท ได้มีการพัฒนาการอย่างต่อเนื่องที่เจดีย์วัดโลกโมฬี การพัฒนารูปแบบได้เพิ่มความสูงของเจดีย์คือ ส่วนฐาน ได้แก่ชุดฐานปัทม์ ลูกแก้ว อกไก่ เพิ่มเป็น 2 ชุดอย่างชัดเจนโดยฐานปัทม์ชั้นล่างไม่มียกเก็จ ที่ฐานปัทม์ชั้นที่สองมีจำนวนยกเก็จที่เพิ่มมากขึ้น และเป็นมุมที่มีขนาดเล็กล ส่วนกลาง ยังคงเป็นเรือนธาตุในผ้าสี่เหลี่ยมยกเก็จ ที่มีขนาดของมุมเล็กลง และจำนวนของมุมมากขึ้นเช่นเดียวกับฐานปัทม์ด้านล่าง ทั้งสี่ด้านของเรือนธาตุมีซุ้มจระนำ มีรูปแบบของซุ้มลดได้ กรอบซุ้มจระนำมีการผสมผสานกันทั้งกรอบแบบคดโค้ง และกรอบแบบวงโค้ง ตลอดจนแนวของลูกแก้ว อกไก่ที่ประดับเสารับซุ้มจระนำ ก็มีขนาดเด่นขึ้น กลายเป็นรูปงอนคล้ายบัวคว่ำที่เรียกกันว่า ปากแล ส่วนยอด เหนือเรือนธาตุ มีการพัฒนาความสูงโดยเพิ่มจำนวนของชั้นลดรูปฐานปัทม์ลูกแก้ว อกไก่ ยกเก็จซ้อนกันสามฐาน รับทรงระฆังและบัลลังก์สิบสองเหลี่ยม ปล้องไฉนและปลี ซึ่งองค์ระฆังและบัลลังค์นั้น เป็นลักษณะร่วมของเจดีย์ทรงระฆัง

2.วิหารหลวงวัดโลกโมฬี

เป็นวิหารที่สร้างขึ้นภายหลังได้มีการบูรณะและยกฐานะจากวัดร้างเป็นวัดที่มีพระภิกษุอยู่จำพรรษา เป็นวิหารไม้สักศิลปะแบบล้านนา ลักษณะงดงาม ประณีต มีลายแกะสลักอย่างสวยงาม ส่วนวิหารหลังเดิมนั้น ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์ระบุว่าสร้างขึ้นพร้อมกับเจดีย์ เมื่อ พ.ศ. 2071

ที่แปลกตาและเด่นมากก็คือตรงหน้าบันรูปจั่วได้ประดับกระจกสี ซึ่งทำให้เกิดสีสันหลากสีบนหลังคาวิหารที่มีพื้นโทนสีดำ ซึ่งพื้นดำนี้มีส่วนช่วยขับกระจกสีแดง ขาว น้ำเงิน เขียว เหลือง จนดูระยิบระยับ

พระพุทธรูป พระประธานในวิหาร เป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ ประดิษฐานอยู่ภายในวิหาร มีเพดานและต้นเสาแกะสลักลวดลายต่างๆ อย่างงดงาม พระพุทธรูปมีนามว่า “พระพุทธสันติจิรบรมโลกนาถ” และได้บรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้บนพระเมาลี เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2546

3.มณฑปพระนางจิรประภามหาเทวี

ภายในประดิษฐานพระรูปของพระนางจิระประภา มหาเทวี ซึ่งพระองค์ได้ทรงอุปถัมภ์วัดโลกโมฬีครั้งเสวยราชย์ครองเมืองเชียงใหม่ไว้ให้คนรุ่นหลังได้ สักการะรำลึกถึงคุณความดีของพระองค์

วัดโลกโมฬี
วัดโลกโมฬี

กิจกรรมต่างๆ ของวัด

วัดโลกโมฬี มีกิจกรรมต่างๆ ในรอบปี ได้แก่

  1. การสืบสานประเพณีปี๋ใหม่เมือง ในช่วงสงกรานต์ เดือนเมษายนของทุกปี
  2. กิจกรรมบรรพชาสามเณรภาคฤดูร้อน เริ่มปลายเดือนมีนาคม – เดือนเมษายนของทุกปี
  3. การปฏิบัติธรรม บวชชีพราหมณ์ ประจำปี
  4. ประเพณียี่เป็งและตั้งธรรมหลวง ประจำปี ในช่วงประเพณียี่เป็ง

ที่ตั้งของ วัดโลกโมฬี

298/1 ถนนมณีนพรัตน์ ตำบลศรีภูมิ อำเมือง เชียงใหม่ โทร.053-404039

Leave a comment

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *